ภาวะหัวใจขาดเลือด เกิดจาก ภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ แบ่งเป็น 2 ภาวะ
- หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
- หัวใจขาดเลือดเรื้อรัง
อาการของโรคหัวใจขาดเลือดเรื้อรัง จะมีอาการแน่นหน้าอก เวลาออกแรงก็จะเหนื่อยมากกว่าปกติ เวลาเดินขึ้นบันได หรือ เดินไกลๆ ก็จะเหนื่อย แต่เมื่อได้พัก หรืออมยาใต้ลิ้น อาการก็จะดีขึ้น หากเริ่มมีอาการดังกล่าวควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย
อาการของหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ส่วนใหญ่จะเป็นครั้งแรกในชีวิตจะมีอาการหมดสติ หัวใจก็จะหยุดเต้น ล้มตัวลงไป หรือเจ็บหน้าอกทันทีแบบที่ไม่เคยเจ็บมาก่อน มีเหงื่อออกท่วมกาย เมื่อมีอาการดังกล่าวต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล และเมื่อถึงโรงพยาบาลจะต้องทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจทันที
ปัจจัยเสี่ยงของภาวะหัวใจขาดเลือด เกิดจากโรคไขมัน โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต เมื่ออายุมากขึ้นในผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 45 ปี ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 55 ปี และที่สำคัญคือการสูบบุหรี่ และกรรมพันธุ์ หากประวัติมีพ่อแม่เป็นโรคเบาหวาน หรือโรคหัวใจ ก็จะมีโอกาสเป็นโรคนี้สูงขึ้น หากไม่ดูแลเรื่องการรับประทานอาหาร
การวินิจฉัยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน คือ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจต้องทำทันที เพราะฉะนั้นถ้าใครมีอาการเจ็บหน้าอก เป็นลม หน้ามืด วูบทันที ต้องนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที และต้องเป็นโรงพยาบาลที่สามารถตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจได้
การวินิจฉัยโรคหัวใจขาดเลือดเรื้อรัง สามารถตรวจวินิจฉัยโดยการเดินสายพาน และตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมได้ แต่ถ้ามีอาการเจ็บหน้าอก ต้องรีบตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจทันที
การรักษาภาวะหัวใจขาดเลือด มีหลายวิธี หากเกิดอาการเฉียบพลัน จะรักษาโดยการเปิดหลอดเลือดด้วยการทำบอลลูน หรือเปิดหลอดเลือดโดยการให้ยาละลายลิ่มเลือด หากไม่สามารถเข้าถึงโรงพยาบาลที่มีห้องสวนหัวใจได้ อาจต้องให้ยาละลายลิ่มเลือด หรือยาละลายเกร็ดเลือดเบื้องต้น
การรักษาในระยะเรื้อรัง โดยการให้ยากลุ่มลดไขมัน กลุ่มลดความดัน ยารักษาเบาหวานและควบคุมปัจจัยเสี่ยงสำหรับรักษาอื่นๆ นอกจากการทำบอลลูนสวนหัวใจ การทำบอลลูนขยายด้วยขดลวด การรักษาโดยการผ่าตัดบายพาส และการรักษาโดยการใช้เครื่องเพิ่มเลือดเลี้ยงหัวใจที่เรียกว่า EECP
การป้องกัน ภาวะหัวใจขาดเลือด
- เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ตรวจสุขภาพหัวใจ (สำหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง)
อย่างไรก็ตามโรคนี้เป็นภาวะหัวใจขาดเลือดเป็นภาวะที่พบบ่อยและอันตราย หากมีปัจจัยเสี่ยงมีประวัติครอบครัวมีความอ้วน มีความดันโลหิตสูง มีภาวะเบาหวาน ควรพบแพทย์
บทความสุขภาพโดย : แพทย์หญิงธัญรัตน์ อร่ามเสรีวงศ์
ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลจุฬาภรณ์