การกู้ฟื้นคืนชีพ (CPR)
จากภาวะความเจ็บป่วยและโรคประจำตัวในปัจจุบันที่เพิ่มมากขึ้นในประชากรทั่วโลก ส่งผลให้เกิดภาวะผู้ป่วยหมดสติหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันมากขึ้น โดยสิ่งที่มีความสำคัญเร่งด่วนในการรักษาเบื้องต้นของผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน คือการทำ CPR (Cardiopulmonary resuscitation) หรือที่เรียกว่า “การปั๊มหัวใจ” ที่มีความรวดเร็ว แม่นยำ และปฏิบัติถูกต้อง เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยที่หยุดหายใจ หัวใจหยุดเต้นจากภาวะฉุกเฉินต่างๆ เช่น ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ไฟฟ้าช็อต จมน้ำ เป็นต้น ซึ่งเมื่อเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เป็นช่วงเวลาที่มีความสำคัญมาก ผู้ป่วยจะมีการขาดออกซิเจนไปเลี้ยงที่สมอง ซึ่งส่งผลให้มีภาวะสมองตายได้ เพียงขาดออกซิเจน 4 นาทีการช่วยชีวิตอย่างถูกต้องและรวดเร็ว จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยรอดชีวิต มีหัวใจกลับมาเต้นดังเดิม หรือยืดระยะเวลาให้ผู้ป่วยได้รับการส่งต่อไปยังทีมแพทย์ฉุกเฉินได้อย่างปลอดภัย
อีกหนึ่งอุปกรณ์ที่สำคัญในการกู้ชีพ คือ เครื่องกระตุกหัวใจ ที่เรียกว่าเครื่อง Automated external defibrillator (AED) ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการช่วยประเมินคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ว่ามีความจำเป็นต้องช๊อตไฟฟ้าผู้ป่วยหรือไม่ โดยเครื่องทำการวิเคราะห์คลื่นไฟฟ้าหัวใจของผู้ป่วย และพร้อมทำการช๊อตไฟฟ้าเมื่อพบคลื่นไฟฟ้าหัวใจชนิดผิดปกติของผู้ป่วย ซึ่งเครื่องมือนี้ ถือเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญมากในการเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตของผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
ขั้นตอนการช่วยชีวิต
- เมื่อพบผู้ป่วยหมดสติ ให้ตรวจสอบดูความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อมก่อนเข้าไปช่วยเหลือ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายแก่ผู้ช่วยเหลือ เช่น บริเวณไฟฟ้า หรือ ไฟฟ้าช๊อตจากสายไฟรั่ว เป็นต้น
- ปลุกเรียกผู้ป่วย โดยตบบริเวณไหล่ทั้งสองข้าง พร้อมเรียกผู้ป่วยด้วยเสียงดัง หากผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ให้ทำตามขั้นตอนต่อไป
- เรียกขอความช่วยเหลือ โดยขอความช่วยเหลือต่อบุคคลบริเวณนั้นเพื่อหาเครื่อง AED ร่วมกับโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือที่สายด่วน 1669 ขอทีมแพทย์ พยาบาล พร้อมอุปกรณ์เครื่องกระตุกหัวใจ โดยแจ้งสถานที่เกิดเหตุ สภาวะของผู้ป่วย และเบอร์โทรติดต่อกลับ
- คลำชีพจรบริเวณลำคอของผู้ป่วย พร้อมตรวจดูการหายใจ หากคลำชีพจรไม่ได้ และผู้ป่วยไม่หายใจ ให้เริ่มทำการ CPR ทันที โดยจัดท่าให้ผู้ป่วยนอนหงายบริเวณผิวที่แข็งและปลอดภัย
- เริ่มช่วยเหลือด้วยการกดหน้าอก วางสันมือข้างหนึ่งตรงครึ่งล่างกระดูกหน้าอก และวางมืออีกข้างทับประสานกันไว้ เริ่มการกดหน้าอกด้วยความลึกอย่างน้อย 5-6 เซนติเมตร ในอัตราเร็ว 100-120 ครั้งต่อนาที
- หากมีเครื่อง AED ให้รีบทำการติดเครื่องมือแก่ผู้ป่วยทันที
- ติดแผ่นนำไฟฟ้า บริเวณใต้กระดูกไหปลาร้าด้านขวา และชายโครงด้านซ้าย และห้ามสัมผัสตัวผู้ป่วย
- ปฏิบัติตามเครื่อง AED แนะนำ หากเครื่องสั่งให้ช็อตไฟฟ้า ให้กดปุ่มช็อต และทำการกดหน้าอกหลังทำการช็อตทันที แต่หากเครื่องไม่สั่งช็อตให้ทำการกดหน้าอกต่อไป
- กดหน้าอกต่อเนื่อง และปฏิบัติตามคำแนะนำของเครื่อง AED
- รอทีมแพทย์ พยาบาลกู้ชีพ มาเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยต่อไป
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานหรือการทำ CPR คือ การกดหน้าอกอย่างถูกวิธี และการสามารถนำเครื่อง AED มาใช้ประเมินและช๊อตไฟฟ้าผู้ป่วยอย่างถูกต้องและรวดเร็วที่สุด นอกจากนั้น เพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้มากขึ้น
นพ.วิโรจน์ เมืองศิลปะศาสตร์
แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์ โรคหัวใจและหลอดเลือด