โรคไซนัสอักเสบ(Rhinosinusitis)

ไซนัสคืออะไร?

ไซนัส (Paranasal Sinuses) เป็นโพรงอากาศบริเวณใบหน้าและฐานของกะโหลกศีรษะ มีรูเปิดติดต่อกับช่องจมูก ภายในไซนัสมีเยื่อบางๆบุอยู่ เยื่อบุนี้ต่อเป็นผืนเดียวกันกับเยื่อบุภายในช่องจมูก

โรคไซนัสอักเสบ คือ ภาวะที่มีการอักเสบของเยื่อบุจมูกและโพรงอากาศข้างจมูก แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ตามระยะเวลาการเกิดโรค

ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน คือ โรคไซนัสอักเสบที่ผู้ป่วยมีอาการไม่เกิน 4 สัปดาห์

ไซนัสอักเสบเรื้อรัง คือ โรคไซนัสอักเสบที่ผู้ป่วยมีอาการต่อเนื่องนานเกิน 12 สัปดาห์

โรคไซนัสอักเสบกับหวัดแตกต่างกันอย่างไร?

โดยทั่วไปหวัดจะเกิดจากการติดเชื้อไวรัสทางเดินหายใจ ซึ่งปกติแล้วอาการจะดีขึ้นภายใน 5-7 วัน
หากผู้ป่วยมีอาการนานกว่า 10 วันขึ้นไป โดยที่อาการไม่ดีขึ้น หรืออาการดีขึ้นในช่วงแรกแล้วกลับแย่ลงอีก ถือเป็นลักษณะของโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลันที่อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย

ไซนัสอักเสบเกิดขึ้นได้อย่างไร?

  1. มีการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบน เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของไซนัสอักเสบชนิดเฉียบพลัน
  2. มีการติดเชื้อของฟันกรามแถวบนแล้วลุกลามมา เช่น รากฟันอักเสบ มักทำให้เป็นไซนัสอักเสบข้างเดียว
  3. มีโรคที่ทำให้เกิดการอุดตันหรือรบกวนการทำงานของรูเปิดของไซนัส เช่น โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ผนังกั้นช่องจมูกคด ริดสีดวงจมูก
  4. มีสิ่งแปลกปลอมในโพรงจมูก มักทำให้เป็นไซนัสอักเสบข้างเดียว โดยเฉพาะในเด็ก

การตรวจวินิจฉัยไซนัสอักเสบมีอะไรบ้าง?

  • ส่วนใหญ่ใช้ประวัติอาการและการตรวจร่างกายเป็นหลัก โดยเมื่อตรวจดูภายในโพรงจมูกพบมีเนื้อเยื่อบุจมูกบวม มีการอุดตันของรูเปิดไซนัส มีหนองไหล หรืออาจพบมีริดสีดวงจมูก
  • ภาพรังสีเอกซเรย์ มีส่วนช่วยเฉพาะในรายที่อาการและอาการแสดงไม่สัมพันธ์กัน
  • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ พิจารณาทำในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคไซนัสอักเสบชนิดเรื้อรัง ซึ่งมักจะมีอาการไม่ชัดเจนเท่ากับโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน หรือกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อน

มีวิธีรักษาโรคไซนัสอักเสบอย่างไร?

  1. การรักษาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวด, ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ เพื่อชะล้างน้ำมูกและเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่เยื่อบุจมูก
  2. การรักษาด้วยยา
    • ยาต้านจุลชีพ กรณีไซนัสอักเสบเฉียบพลันที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
    • ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก เพื่อลดอาการอักเสบ ลดการบวมของเยื่อบุจมูก
    • ยาต้านฮิสตามีน กรณีไซนัสอักเสบที่มีสาเหตุจากภูมิแพ้
  3. การผ่าตัด กรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา มีภาวะแทรกซ้อนหรือมีโรคร่วมอื่นๆ เช่น ริดสีดวงจมูก ผนังกั้นช่องจมูกคด ปัจจุบันการผ่าตัดไซนัสสามารถผ่าตัดด้วยการส่องกล้องผ่านจมูกได้เกือบทั้งหมด โดยไม่มีแผลภายนอก

โรคแทรกซ้อนที่เกิดจากไซนัสอักเสบมีอะไรบ้าง?

  1. โรคแทรกซ้อนทางตา การติดเชื้ออาจลุกลามไปในกระบอกตา สามารถรุนแรงถึงขั้นตาบอดได้
  2. โรคแทรกซ้อนทางสมอง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฝีในสมอง

วิธีการดูแลรักษาตนเองเมื่อเป็นโรคไซนัสอักเสบ

  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง
  • อยู่ในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเท หลีกเลี่ยงฝุ่นควันและมลภาวะ
  • ใช้ยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

แม้ว่าไซนัสอักเสบจะไม่ใช่โรคที่รุนแรง

แต่ด้วยภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ทำให้มีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้