การเตรียมช่องปากก่อนฉายรังสี
ผู้เข้ารับการฉายรังสีควรพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากก่อน ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจวินิจฉัย ถ่ายภาพเอกซเรย์ และวางแผนการรักษาในช่องปาก ในกรณีที่มีฟันจำเป็นต้องได้รับการรักษา ควรรักษาให้เสร็จเรียบร้อยก่อนเริ่มฉายรังสี เพราะอาการแทรกซ้อนต่างๆ ส่งผลให้เกิดโรคฟันผุ และโรคเหงือกได้ง่ายยิ่งขึ้น ในกรณีที่ต้องมีการถอนฟัน ควรเว้นระยะห่าง อย่างน้อย 14 วันก่อนเริ่มฉายรังสีเพื่อรอให้แผลถอนฟันหาย
ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้จากการฉายรังสีบริเวณใบหน้าและคอ
- เกิดอาการแสบปากและมีแผลในช่องปาก
- กลืนลำบาก มีอาการเจ็บขณะกลืน
- ภาวะปากแห้งน้ำลายน้อย
- เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อในช่องปาก
- อ้าปากได้น้อยลง เนื่องจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ
- สูญเสียการรับรสหรือมีภาวะเปลี่ยนแปลงไป
การดูแลช่องปากระหว่าง และหลังฉายรังสี
- ระหว่างฉายรังสี
– ควรจิบน้ำเป็นประจำ เนื่องจากระหว่างฉายรังสีคนไข้อาจมีภาวะน้ำลายน้อย หรืออาจพิจารณาใช้สารทดแทนน้ำลาย และบ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปากที่ปราศจากแอลกอฮอล์ หรือน้ำยาบ้วนปากแบบผสม เพื่อบรรเทาอาการ การทำน้ำยาบ้วนปากแบบผสมทำได้โดยผสมเบคกิ้งโซดา 1 ช้อนโต๊ะ เกลือ 1 ช้อนโต๊ะ และน้ำเปล่าต้มอุ่น 1 ลิตร ทั้งนี้การทำน้ำยาบ้วนปากแบบผสมจะมีอายุการใช้งานวันต่อวัน เท่านั้น และกรณีคนไข้มีอาการแสบปาก การอมน้ำแข็งก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถช่วยบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นได้
– ดูแลรักษาความสะอาดช่องปาก ฟัน ลิ้น และเหงือก ด้วยการแปรงฟัน วันละ 2 ครั้ง ร่วมกับการใช้ยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์ และทำความสะอาดซอกฟันให้สะอาดสม่ำเสมอ การทำความสะอาดซอกฟันด้วยไหมขัดฟัน แนะนำให้ใช้ไหมชนิดมีขี้ผึ้งเคลือบ โอบล้อมรอบฟันและถูเข้าออกซี่ละ 5 ครั้ง หรืออาจใช้แปรงซอกฟันในกรณีมีช่องว่างระหว่างซี่ฟัน หากคนไข้มีอาการแสบช่องปากมากจนไม่สามารถแปรงฟันได้ ควรรีบปรึกษาทันตแพทย์ เพื่อขอรับคำแนะนำและแนวทางในการดูแลรักษาความสะอาดช่องปากที่เหมาะสมโดยเร่งด่วน
– งดการใส่ฟันปลอมในช่วงระหว่างฉายรังสี เพื่อลดการเกิดแผลในช่องปากจากการเสียดสีหรือกดทับของฟันปลอม
- หลังฉายรังสี
– เข้ารับการตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำทุกๆ 3 เดือน ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคในช่องปาก หรือ 6 เดือน ตามคำแนะนำของทันตแพทย์
– ดูแลรักษาความสะอาดช่องปาก ฟัน ลิ้น และเหงือก ด้วยการแปรงฟัน วันละ 2 ครั้ง ร่วมกับการใช้ยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์ และทำความสะอาดซอกฟันให้สะอาดสม่ำเสมอ
– จิบน้ำเป็นประจำ ในกรณีที่คนไข้มีภาวะน้ำลายน้อย หรืออาจพิจารณาใช้สารทดแทนน้ำลาย และบ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปากที่ปราศจากแอลกอฮอล์ หรือน้ำยาบ้วนปากแบบผสมเพื่อบรรเทาอาการ
– รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบ 5 หมู่ งดดื่มเหล้าและสูบบุหรี่