เชื้อไวรัส COVID-19 คืออะไร ?
เชื้อไวรัสโคโรนา (Coronaviruses: CoV) เป็นเชื้อไวรัสในกลุ่มอาร์เอนเอไวรัส (RNA viruses) ลักษณะพิเศษของเชื้อกลุ่มนี้คือมีโปรตีนเป็นตุ่มหนาม (spike protein) อยู่รอบชั้นไขมันที่หุ้มห่ออยู่ (lipid envelope) ทำให้ดูคล้ายมงกุฏ (crown) หรือกลดของพระอาทิตย์ (corona) การติดเชื้อไวรัสโคโรนาพบได้ทั่วไปทั้งในมนุษย์และสัตว์ เชื้อไวรัสโคโรนาบางชนิดสามารถติดต่อจากสัตว์สู่มนุษย์ได้และก่อให้เกิดอาการหลากหลาย ตั้งแต่อาการที่คล้ายคลึงกับไข้หวัดใหญ่ ไปจนถึงโรคระบบทางเดินหายใจที่รุนแรง เช่น กลุ่มอาการระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันในประเทศตะวันออกกลาง (Middle East respiratory syndrome coronavirus: MERS-CoV) โรคซาร์สหรือโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง (Severe Acute Respiratory Syndrome: SARS-CoV) เป็นต้น จากการสอบสวนโรคทั้งสองพบว่า มนุษย์ได้รับเชื้อ SARS-CoV จากสัตว์ป่าในวงศ์ชะมดและอีเห็น (civets) และ MERS-CoV จากอูฐ
ในวันที่ 31 ธันวาคม 2562 พบผู้ป่วยด้วยอาการปอดอักเสบที่ไม่ทราบสาเหตุที่เมืองอู่ฮั่น (Wuhan) มณฑล หูเป่ย์ (Hubei) ประเทศจีน ซึ่งต่อมารัฐบาลจีนได้ออกประกาศแถลงสาเหตุของอาการดังกล่าวว่ามาจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19 (Coronavirus Disease – 2019: COVID-19 ซึ่งถูกกำหนดชื่อโดยองค์การอนามัยโลก) ในวันที่ 7 มกราคม 2563 หลังจากนั้นได้มีรายงานพบผู้ติดเชื้อซึ่งเดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น ในหลายพื้นที่ของประเทศจีนและนอกประเทศจีนมาอย่างต่อเนื่อง
COVID-19 …. จากสัตว์สู่มนุษย์
จากข้อมูลเกี่ยวกับลำดับพันธุกรรม (Genetic sequence) ของเชื้อไวรัส COVID-19 พบว่า ลำดับพันธุกรรมของเชื้อไวรัสนี้ใกล้เคียงกับลำดับพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนาอื่นซึ่งพบได้ในฝูงค้างคาว Rhinolophus bat หรือ Horseshoe Bat นักวิชาการหลายท่านเชื่อว่ายังมีสัตว์กลุ่มอื่นนอกเหนือจากค้างคาวที่สามารถเป็นแหล่งรังโรคของเชื้อไวรัสชนิดนี้ อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีการศึกษายืนยันข้อสันนิษฐานนี้เพิ่มเติมในอนาคต การระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ในช่วงแรกนั้นเชื่อว่าอาจเริ่มต้นมาจากการที่มนุษย์ติดเชื้อไวรัสจากสัตว์ที่เป็นพาหะของโรคซึ่งสันนิษฐานว่าคือตัวนิ่มหรือตัวลิ่น (Pangolins) แต่ช่องทางการติดต่อและแพร่เชื้อกลับพบว่า เป็นการติดต่อระหว่างมนุษย์สู่มนุษย์เป็นหลัก ขณะนี้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการศึกษาเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับชนิดสัตว์ที่อาจเป็นแหล่งรังโรคของเชื้อไวรัสและช่องทางการติดต่อระหว่างสัตว์สู่คนที่เป็นไปได้ (ข้อมูล ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563)
ควรปฏิบัติอย่างไรเมื่อต้องสัมผัสสัตว์มีชีวิตหรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์
ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ระบุถึงข้อควรปฏิบัติเมื่อต้องเดินทางไปตลาดสด โดยเฉพาะตลาดค้าสัตว์มีชีวิตไว้ว่า
- ควรล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งหลังสัมผัสกับตัวสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์
- ไม่ใช้มือสัมผัสตา จมูก หรือปาก
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่วยหรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่เน่าเสีย
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์อื่น ๆ ที่อยู่ในบริเวณตลาดสดดังกล่าว เช่น สุนัขหรือแมวจรจัด หนู นก ค้างคาว เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสแหล่งปนเปื้อนของเสียในตลาด เช่น ซากหรือเครื่องในสัตว์ที่คัดทิ้ง น้ำเสีย
นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกยังแนะนำวิธีการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ COVID-19 ได้แก่ การล้างมืออยู่เป็นประจำ สวมหน้ากากอนามัยปิดปากและจมูกเมื่อมีอาการไอหรือจาม หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น มีอาการไอ จาม เป็นต้น สำหรับการปรุงอาหารนั้นจำเป็นต้องระมัดระวังการปนเปื้อนข้ามระหว่างอาหารที่ปรุงสุกแล้วกับวัตถุดิบที่ยังไม่ผ่านการปรุงสุกด้วยความร้อน รับประทานอาหารที่ทำให้สุกด้วยความร้อนแล้วเท่านั้น
แหล่งอ้างอิง
1. https://www.who.int/health-topics/coronavirus เข้าถึง ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563
2. https://www.oie.int เข้าถึง ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563
บทความโดย อาจารย์ ดร. สพ.ญ.กัญช์ เกล็ดมณี
คณะสัตวแพทยศาสตร์และสัตววิทยาประยุกต์
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์